จับมือฝ่าวิกฤติ! เจาะลึกทุกมิติ ‘ไข้เลือดออก’ มฤตยูเงียบคร่าชีวิตบริสุทธิ์

  • 11 พ.ค. 2563
  • 3022
หางาน,สมัครงาน,งาน,จับมือฝ่าวิกฤติ! เจาะลึกทุกมิติ ‘ไข้เลือดออก’ มฤตยูเงียบคร่าชีวิตบริสุทธิ์

“ไข้เลือดออก”...โรคภัยที่มาพร้อมกับอันตรายร้ายแรง เลยเถิดไปจนถึงขั้นสามารถปลิดชีวิตใครคนหนึ่งได้ และสิ่งที่รายงานพิเศษชิ้นนี้ อยากจะสื่อสารแก่ผู้อ่านก็คือ หากวันนี้ วันที่ไม่มีความเป็นความตายของใครสักคนหนึ่งแขวนอยู่บนเส้นด้ายปรากฏเป็นตัวอย่างให้คุณเห็น คุณจะหันมาตระหนักกับ “ไข้เลือดออก” ฝันร้ายที่สามารถพรากชีวิตคนที่คุณรักไปได้ทุกเมื่อหรือไม่?

โอกาสนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รับอาสาหยิบยื่นความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับ “โรคไข้เลือดออก” จังหวัดใดไข้เลือดออกระบาดหนักสุด? ผู้ใหญ่อย่างคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก? เมื่อเข้าขั้นวิกฤติ โอกาสรอดเป็นเช่นไร? เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลถ่ายภาพผู้ป่วยลงโซเชียล มีโทษอย่างไร? ย้อนดูดาราเป็นไข้เลือดออก หลายประเด็นที่คุณสงสัย ที่นี่ เฉพาะกิจมีคำตอบ!

 

สภาวะเมื่อคุณเป็นไข้เลือดออก

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันไทยไร้ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคชนิดหนึ่งที่มียุงลายเป็นตัวการนำเชื้อโรคมาสู่คนว่า ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย เกิดจากไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4 เชื้อไวรัสเดงกี มีแอนติเจนของกลุ่มบางชนิดร่วมกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อถึง 4 ครั้ง โดยแต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก และปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ข้างต้น ดังนั้น หากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสเดิมในร่างกาย เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเดงกีชนิดใหม่ที่ต่างสายพันธุ์ออกไป ก็จะยิ่งมีอาการรุนแรงและรักษายากยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบันไข้เลือดออกในประเทศไทย เกิดจากไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4

โดยเป็นที่ยอมรับว่า การติดเชื้อสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่จะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ในช่วงระยะสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน และการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดอื่นในภายหลัง จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-2 พ.ย. 2558 มีจำนวนผู้ป่วย 102,762 ราย เสียชีวิต 102 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อายุ 10-14 ปี รองลงมา คือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ เพชรบุรี รองลงมาได้แก่ ระยอง ราชบุรี อุทัยธานี และปราจีนบุรี

ผู้ใหญ่อย่านิ่งนอนใจ! เป็นไข้รีบพบแพทย์ ก่อนสายเกินแก้

โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค แสดงความเป็นห่วงถึงโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ใหญ่มักชะล่าใจว่าตนเองนั้น เป็นเพียงแค่ไข้หวัดธรรมดา จึงซื้อยาลดไข้มารับประทานเอง โดยที่ไม่ไปพบแพทย์ อีกทั้ง ผู้ใหญ่หลายคนยังมีทัศนคติที่ว่า โรคไข้เลือดออกจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กเพียงอย่างเดียว

 

ผู้ใหญ่มักชะล่าใจไม่พาเด็กไปพบแพทย์ เพียงคิดว่ารับประทานยาลดไข้ก็หายได้

“ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้เช่นกัน แต่จะไม่มากเท่ากับในเด็ก เพราะผู้ใหญ่สามารถดูแลตัวเองได้ดีกว่า โดยเหตุที่ผู้ใหญ่เป็นไข้เลือดออกอาจจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น ทำกิจกรรมอยู่ตามป่าตามเขา รดน้ำต้นไม้ หรือเล่นกีฬา” นพ.อำนวย กาจีนะ กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่

ด้วยความเข้าใจดังกล่าวของผู้ใหญ่ จึงทำให้อาการของผู้ป่วยดำเนินไปสู่ภาวะเลือดออก และท้ายที่สุด อาการที่เกิดจากโรคไข้เลือดออกอาจร้ายแรง จนทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกค่อนข้างมาก และเกิดอาการช็อกในเวลาต่อมา

ขณะที่ อาการแทรกซ้อนของโรคไข้เลือดออก เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีความแตกต่างจากเชื้อไวรัสประเภทอื่น เนื่องจากไวรัสประเภทดังกล่าว จะทำให้เกิดเลือดออกตามผิวหนังอย่างรุนแรง โดยมีผลสืบเนื่องมาจากภาวะช็อก อย่างไรก็ตาม ภาวะช็อกของผู้ป่วย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนคือ ตับ ไตวาย และถึงขั้นเสียชีวิตได้

ไข้สูง ปวดหัว จุกท้อง! เช็กสักนิดคุณเป็นหรือไม่?

นพ.อำนวย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แนะแนวทางแก่ประชาชนว่า เมื่อคุณรู้สึกว่ามีอาการไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส แต่กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง หรืออาจลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก โดยหลังจากมีไข้สูง 1-2 วัน พบว่า มีผื่นหรือจุดเลือดออกตามร่างกาย จุกแน่นท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะตามกล้ามเนื้อ และข้อ หากไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบกลับไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง

 

อาการผู้ป่วยไข้เลือดออกเบื้องต้น หลังจากมีไข้สูง 1-2 วัน พบว่า มีผื่นหรือจุดเลือดออกตามร่างกาย

“โรคไข้เลือดออกอาจเกิดภาวะรุนแรงได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ป่วยด้วยว่า ผู้ป่วยท่านนั้นๆ ได้รับการดูแลทันเวลาหรือไม่ และการรักษาเหมาะสมหรือไม่” อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก

ช่วงที่สำคัญและนับว่าเป็นช่วงอันตรายที่สุด คือ ช่วงที่ไข้ลด ซึ่งมักจะลดลงประมาณวันที่ 3-4 หลังป่วย ถ้าผู้ป่วยฟื้นไข้ คือ มีอาการสดชื่น รับประทานอาหารได้ หรือในเด็กสามารถวิ่งเล่นได้ แสดงว่าบุคคลดังกล่าวหายป่วย

“แต่ถ้าพบว่าซึมลง อ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด” นพ.อำนวย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเตือนผู้ป่วยเพื่อไม่ให้ประมาท

 

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออก พบว่า มีผื่นหรือจุดเลือดออกตามร่างกาย จุกแน่นท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะตามกล้ามเนื้อ และข้อ

ผู้ป่วยไข้เลือดออกเข้าขั้นวิกฤติ หายเป็นปกติได้หรือไม่?

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงอาการหลังได้รับการดูแลรักษาของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เข้าขั้นวิกฤติว่า จากอดีตที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหลายคนที่เป็นโรคไข้เลือดออกอย่างรุนแรง แต่แพทย์สามารถวินิจฉัย และรักษาให้หายได้จนเป็นปกติ

“โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะ เมื่อเป็นไข้สูง อย่าซื้อยามากินเอง โดยเฉพาะยาแอสไพรินหรือยาไอบูโพรเฟน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย และเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้” นพ.อำนวย กาจีนะ เตือนถึงผู้ที่มักชอบซื้อมารับประทานเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นเอง แพทย์มักให้กลับบ้าน โดยให้ผู้ดูแล สังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ และให้การดูแลอย่างง่าย โดยเช็ดตัวให้ผู้ป่วย เพื่อไม่ให้อุณหภูมิร่างกายร้อนจัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง พร้อมกับรับประทานอาหารอ่อน หรืออาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่น้ำผลไม้ และพักผ่อนมากๆ

 

ฉีดยากันยุงตามชุมชน ป้องกันกันโรคไข้เลือดออก

แพทย์ พยาบาล ถ่ายภาพผู้ป่วยลงโซเชียลฯ จ่อคุก 6 เดือน

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยถึงพฤติกรรมการถ่ายภาพในสถานพยาบาลกับทีมข่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นความลับของผู้ป่วย หากมีการเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือทำให้ได้รับความเสียหาย ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ยกเว้นว่าจะได้รับการอนุญาตและยินยอมจากผู้ป่วย โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. มาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ซึ่งถือเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ความผิดนี้สามารถยอมความได้ หากไม่มีการฟ้องร้องก็ไม่สามารถเอาผิดได้

2. มาตรา 323 ประมวลกฎหมายอาญา ระบุถึงผู้ที่ล่วงรู้ความลับของผู้อื่นจากการประกอบอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล แล้วเปิดเผยความลับนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

พฤติกรรมการถ่ายภาพผู้ป่วยในสถานพยาบาล ถือว่าเป็นความลับของผู้ป่วย มีความผิดทางกฎหมาย

นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในกรณีดังกล่าว หากมีการสืบสวนถึงต้อตอแล้วทราบว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่วิชาชีพทางสถานพยาบาล เช่น แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ซึ่งอาชีพดังกล่าว จะต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องจากเป็นเรื่องของจริยธรรมทางวิชาชีพ

ดังนั้น ต้องมีการดำเนินการทางวิชาชีพในแต่ละแขนง เช่น พยาบาล จะอยู่ในความดูแลของสภาการพยาบาล ที่จะทำหน้าที่สอบสวนและลงโทษ ส่วนแพทย์ จะอยู่ในความดูแลของแพทยสภา ที่จะมีหน้าที่สอบสวนและลงโทษ โดยพิจารณาและสอบสวนว่ากระทำจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำผิดจริง จะต้องได้รับการลงโทษตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือน หรือโดนภาคทัณฑ์ แต่หากถึงขั้นที่มีความผิดร้ายแรง อาจสั่งพักใบอนุญาต และรุนแรงที่สุดจะเป็นการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งกรณีนี้อาจลงโทษโดยการว่ากล่าวตักเตือน หรือโดนภาคทัณฑ์

“ในแง่พฤติกรรม ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากโดยปกติสถานพยาบาลจะมีมาตรการห้ามไม่ให้ถ่ายภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ในตึกผู้ป่วย ไอซียู หรือห้องฉุกเฉิน เพราะมีโอกาสนำไปสู่การละเมิดสิทธิและความลับของผู้ป่วย รวมถึงทำให้ผู้ป่วยเสื่อมเสียชื่อเสียงได้” นพ.สัมพันธ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

ย้อนคนดัง! ฝ่าวิกฤติไข้เลือดออก
 

ย้อนคนดังฝ่าวิกฤติไข้เลือดออก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 เป็นปีที่โรคไข้เลือดออกระบาดหนัก ดารานักแสดงอย่าง นาเดีย นิมิตวานิช หนึ่งในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากมีอาการไข้สูงและเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นเวลา 1 สัปดาห์

และรายต่อมา ปี 2555 นักแสดงสาว จักจั่น อคัมย์สิริ สุวรรณศุข มีอาการไข้สูง จนต้องหามส่งโรงพยาบาล เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำลงเรื่อยๆ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก ทำให้ต้องพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลหลายวัน

สำหรับในปี 2558 (8 พ.ย.) นายสงกรานต์ เตชะณรงค์ นักธุรกิจหนุ่ม ทายาทโบนันซ่า ได้ป่วยเป็นไข้เลือดออก และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ จ.นครราชสีมา กระทั่งได้ย้ายเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลพระราม 9 ซึ่งขณะนี้อาการดีขึ้นและไม่มีไข้แล้ว

และรายล่าสุด (10 พ.ย.) นักแสดงหนุ่ม ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ป่วยหนักเป็นไข้เลือดออก เลือดตกอวัยวะภายใน ไตวายเฉียบพลัน ซึ่งขณะนี้อาการยังอยู่ในขั้นวิกฤติ และอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีอย่างใกล้ชิด 

 

ไม่มีลูกน้ำ ไม่มียุง ปราศจากโรคไข้เลือดออก

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top